หน้าแรก > สุดเส้นขอบฟ้า > ย้อนรอยกรุงเก่า จากจริงสู่ฉาก..กองถ่าย”ตำนานสมเด็จพระนเรศวร”

ย้อนรอยกรุงเก่า จากจริงสู่ฉาก..กองถ่าย”ตำนานสมเด็จพระนเรศวร”

17 กันยายน, 2010 ใส่ความเห็น Go to comments

ในช่วงวันหยุดเข้าพรรษาที่ผ่านมา ได้ศุภฤกษ์มงคลออกจากกรุงเทพเมืองฟ้าอมร มาทำบุญที่วิหารพระมงคลบพิตร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สักการะหลวงพ่อมงคลบพิตร พระพุทธรูปพระประธานปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์องค์ใหญ่ที่สุดองค์หนึ่งของประเทศไทย ศิลปกรรมเป็นแบบอยุธยาตอนต้นผสมสุโขทัย ซึ่งคาดว่าสร้างขึ้นในช่วงระหว่าง พ.ศ.๑๙๙๑-๒๑๔๕ แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ แต่เดิมวิหารและตัวองค์พระนี้ ก็ถูกไฟไหม้เสียหายหนักเหมือนเช่นวัดวาอารามอื่นๆ ในพระนครครั้งเสียกรุง พ.ศ.๒๓๑๐ และถูกปล่อยทิ้งร้างมายาวนาน จนปี พ.ศ.๒๔๙๙ จึงได้รับการบูรณะใหม่ทั้งหมด ดังปรากฏเป็นปัจจุบัน

เสร็จจากหน้าวิหารมงคลบพิตร เดินลัดเลาะต่อเนื่องมาตามแนวกำแพงเก่าและทิวต้นไม้ ถือโอกาสเยี่ยมชมร่องรอยอารยธรรมและเศษซากที่อยู่หลังแนวกำแพงพระราชวังโบราณเดิมนั้นกันต่อ นั่นคือวัดพระศรีสรรเพชญ์ เขตพุทธาวาสในพระราชวังแห่ง“กรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุธยา มหาดิลกภพนพรัตน์ราชธานี บุรีรมย์อุดมมหาสถาน” หรืออาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ราชธานีเดิมของเรานั่นเอง

วัดพระศรีสรรเพชญ์ แต่เดิมเคยเป็นที่ประทับของพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ต่อมาเมื่ออาณาจักรอยุธยาแผ่ขยายไพศาลเป็นมหานครขนาดใหญ่ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ(รัชกาลลำดับที่ ๘) จึงทรงโปรดให้ขยับขยายสร้างพระราชวังใหม่ถัดมาทางตอนเหนือ แล้วยกที่ประทับเดิมนั้นให้เป็นวัดหลวงประจำพระราชวัง ซึ่งได้กลายเป็นคติต้นแบบของวัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวังแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน.

วัดพระศรีสรรเพชญ์ มีจุดเด่นคือ พระสถูปเจดีย์ใหญ่แบบลังกา เรียงสามองค์ โดยองค์ตะวันออกบรรจุพระอัฐิของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ องค์กลางบรรจุพระอัฐิของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 และองค์ที่สามถัดมาจากด้านทิศตะวันตกบรรจุพระอัฐิของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ซึ่งแม้จะเหลือเพียงเศษซากปรักหักพัง ก็ยังคงเห็นถึงความยิ่งใหญ่และสวยงามมาจนถึงปัจจุบัน จนได้รับการเลือกจากมหาชนเป็น หนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ยุคเก่าของประเทศไทยมาตลอด 3 ปีซ้อน (2551-2553) (ข้อมูลจาก http://www.7wondersthailand.com)

ถัดมาสู่เขตพระราชฐาน เคยเป็นที่ตั้งของพระที่นั่งองค์สำคัญหนึ่งที่สร้างขึ้นในครั้งนั้นคือ พระที่นั่งสรรเพชญ์มหาปราสาท สำหรับใช้เป็นท้องพระโรงประกอบพิธีสำคัญของพระมหากษัตริย์ ดั่งเคยปรากฏเป็นฉากสำคัญในละครและภาพยนตร์ย้อนยุคสมัยอยุธยาเสมอๆ แต่พระที่นั่งองค์นี้ก็ถูกเผาทำลายลงทั้งองค์ ไปพร้อมกับพระราชวังทั้งหมด วัดพระศรีสรรเพชญ์ วิหารมงคลบพิตร ตลอดจนทั่วทั้งเมืองพระนคร เมื่อครั้งเสียกรุงแก่พม่าในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ จนในปัจจุบันเหลือแต่ฐานและกำแพงบางส่วนเท่านั้น

ต่อมาสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ขณะสร้างราชธานีใหม่ ทรงให้อัญเชิญพระประธานวัดพระศรีสรรเพชญ์ พระนามว่าพระศรีสรรเพชญดาญาณ ซึ่งอดีตเป็นพระพุทธรูปยืนสูง 16 เมตร หุ้มด้วยทองคำหนัก 286 ชั่ง (ราว 171 กิโลกรัม) แต่ได้รับความเสียหายอย่างหนักยากแก่การบูรณะใหม่หลังถูกพม่าสุมไฟลอกทองตัวองค์พระไป ย้ายมาประดิษฐานบรรจุไว้ในพระเจดีย์สร้างใหม่ในวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) เรียกเจดีย์สรรเพชญดาญาณ ซึ่งถือต่อมาภายหลังเป็นพระเจดีย์ประจำรัชกาลและวัดประจำรัชกาลที่ ๑ ด้วย

ผลพวงจากการเก็บร่องรอยประวัติศาสตร์อยุธยาทริปนี้ จุดประกายให้อยากเห็นภาพของพระราชวังโบราณแห่งนี้พลิกฟื้นมามีชีวิตที่งดงามอีกครั้งหนึ่ง การจำลองพระที่นั่งสรรเพชญ์มหาปราสาทนั้นมีสองแห่งด้วยกัน ที่สมบูรณ์ที่สุดทั้งองค์อยู่ที่สถานที่ท่องเที่ยว เมืองโบราณ จ.สมุทรปราการ และอีกแห่งหนึ่งก็คือฉากในภาพยนตร์ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ของพร้อมมิตรสตูดิโอ ที่ตั้งอยู่ภายในเขตกองพลทหารราบที่ 9 ค่ายสุรสีห์ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งปัจจุบันเปิดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งหนึ่งของเมืองกาญจน์ไปเรียบร้อยแล้ว และนี่คือที่มาของการตะลอนโรงถ่ายท่านมุ้ย ในสัปดาห์ต่อมา

จากทางหลวงหมายเลข 3199 กาญจนบุรี-เขื่อนศรีนครินทร์ ถึงสี่แยกลาดหญ้า เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 3086 อีกราวสองกิโลเมตร พบป้ายพร้อมมิตรสตูดิโอ ชี้ให้เลี้ยวซ้ายเข้าถนนซอยเล็กๆ ตรงมาซักพักก็มั่นใจได้ว่าในเขตทหารแน่นอน ด้วยเพราะพบทหารกางกั้นตั้งป้อมตรวจรถที่ผ่านเข้ามาอยู่กลางถนน นาย ท.ทหารอดทน กล่าวด้วยน้ำเสียงยิ้มแย้มแนะนำนักท่องเที่ยวว่า ขับต่อไปอีกสองกิโลเมตรถึงทางเข้าโรงถ่ายฯ พอพ้นด่านมาก็ชวนสงสัยว่า เอ๊ะนี่ก็นักแสดงหรือว่าทหารจริงๆกันนะ? แต่ก็เอาเถอะ ไม่อยากกลับไปให้พี่แกพิสูจน์ด้วยลูกปืน M ซักเท่าไหร่ จึงมุ่งหน้าต่อไป..จนถึงซะที.. โรงถ่ายภาพยนตร์พร้อมมิตรสตูดิโอ โดยหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ที่ในใบแนะนำกล่าวไว้ว่า ใช้เวลาก่อสร้างกว่า 4 ปี จากพื้นที่ป่ารกราว 2,000 ไร่

ฉากและอาณาบริเวณที่เปิดให้ชม เริ่มต้นจากฟากฝั่งพม่ากรุงหงสาวดีก่อน ได้แก่ หมู่บ้านโยเดีย หรือชุมชนชาวอโยธยาที่ถูกพม่ากวาดต้อนมาครั้งกรุงแตกครั้งที่ ๑ (ปี พ.ศ.๒๑๑๒) ผ่านฉากวัดร้างในตอนที่พระองค์ดำพบกับมณีจันทร์ในวัยเยาว์ (1) ถัดเข้ามาเป็นกุฏิมหาเถรคันฉ่อง (2), ห้องเก็บศาสตราวุธ, วัดและโบสถ์วัดมหาเถรคันฉ่อง (3-4) เจดีย์ทองคำภายในวัด จากนั้นข้ามคูน้ำผ่านเข้ากำแพงเมืองหงสาวดี มุ่งสู่สีหสาสนบัลลังก์  ที่ด้านหน้าทางเข้าเป็นสิงห์คู่ซ้ายขวานั่นเอง (5) ซึ่งแต่ละจุดชมสำคัญ จะมีจอทีวีเปิดอธิบายถึงจุดนั้นๆในฉากที่ถ่ายทำในภาพยนตร์ และมีวิทยากรประจำจุดคอยเล่าอธิบายและตอบข้อซักถามสงสัยแก่นักท่องเที่ยวด้วย

ติดกันมาเป็นฉากคุกใต้ดินที่มีประตูเหล็กหนาหนักทำจากโฟม และซี่ลูกกรงห้องขังเหล็กจากท่อพีวีซี แต่งสีซะเชื่อสนิทใจว่าแข็งแรง. เดินต่อมาหน่อยพบพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่ (6) และจุดถ่ายภาพที่ระลึก ที่นักท่องเที่ยวสามารถซื้อแพ็กเกจเพื่อเปลี่ยนเครื่องแต่งกายมาย้อนยุคถ่ายกับฉากที่เซ็ตไว้ในตำหนักพระนเรศวรได้ แต่อาจต้องใช้เวลาซักหน่อยในการแต่งตัวและรอคิวถ่าย

ออกจากหงสา ข้ามถนนมาไม่ไกลก็ถึงอโยธยา สู่เป้าหมายที่ถูกจุดประกายไว้นั่นคือ ฉากสรรเพชญ์ปราสาท จำลองภายในท้องพระโรงพระที่นั่งสรรเพชญ์มหาปราสาท นั่นเอง (10) แต่ถึงแม้จะไม่ได้จำลองละเอียดทั้งองค์เท่าที่เมืองโบราณ แต่ก็สวยงามน่าประทับใจไม่น้อย รายละเอียดการแกะต่างๆ นับว่าประณีตสมจริงทีเดียว

ออกจากสรรเพชญ์ปราสาท ผ่านจุดตั้งปืนไฟโปรตุเกส (7) และกำแพงเมืองอโยธยา (8) ผ่านซุ้มประตูออกมานอกเมือง ที่มีกิจกรรมบริการนักท่องเที่ยวทั้งขี่ช้าง ขี่ม้า นั่งเกวียน หรือรอรถกอล์ฟรับส่ง ก็ตามสะดวก เพื่อนำชมในส่วนของหมู่บ้านอโยธยา (9) และโรงถ่ายตำหนักบุเรงนอง ที่อยู่ภายในโรงสำหรับถ่ายจริงๆ จากภาพ (11-12) มองออกไปนอกหน้าต่างตำหนัก จะเห็นกำแพงและบ้านเรือนอยู่ไกลๆ นั่นคือการเซ็ตฉากหลังขนานแท้ เพราะเป็นฉากท้องฟ้าและบ้านเรือนย่อส่วน ซึ่งในภาพยนตร์ที่เราได้เห็นกัน จะต้องมีการเซ็ตแสงไฟและตกแต่งด้วยต้นไม้เพื่อให้เกิดการพัดไหวจริง พร้อมกับให้คนเดินผ่านไปมา เพื่อสร้างความสมจริงยิ่งขึ้น. แต่ฉากที่ชมผ่านมาแล้วบางฉากนั้นก็เป็นการสร้างขึ้นมากลางแจ้ง ด้วยปูนจริงไม้จริง ผสานโฟมบ้างก็มี ซึ่งในส่วนของบ้านเรือนในหมู่บ้านชาวอโยธยา ก็โดนลมฝนฟ้าคะนองจริงหอบพังไปหลายหลังอยู่เหมือนกัน เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี่เอง โอ๊ว!  เดินเชื่อมต่อกันมายังโรงเก็บอุปกรณ์ประกอบฉาก ที่ภายในเป็นที่เก็บสารพัดสิ่งในฉากภาพยนตร์ที่เราได้เห็นกัน ทั้งอาวุธ หอก ดาบ เกราะ หมวก โล่ ที่หยิบมาใส่เล่นถ่ายรูปได้ หรือราชยานคานหาบ พระพุทธรูปปางไสยาสน์แกะจากโฟมทำสี ที่ดูจากในภาพยนตร์องค์ใหญ่มาก แล้วก็มาถึงปลายทางของรอบวงท่องเที่ยวโรงถ่ายตำนานสมเด็จพระนเรศวรกันแล้ว นั่นคือจุดจำหน่ายของที่ระลึก เครื่องดื่ม เป็นที่ปิดท้ายรายการตามแบบแหล่งท่องเที่ยวขนาดใหญ่ เป็นอันครบถ้วนทั่ว

1.วัดร้าง 2.กุฏิพระมหาเถรคันฉ่อง
3.วัดพระมหาเถรคันฉ่อง

4.โบสถ์วัดพระมหาเถรคันฉ่อง
5.สีหสาสนบัลลังก์
6.พระยืน

7.ปืนไฟโปรตุเกส

8.กำแพงเมืองอโยธยา
9.วัดนอกกำแพงเมืองอโยธยา
10.ภายในสรรเพชญ์ปราสาท 11.หน้าต่างตำหนักบุเรงนอง 12.คือฉากหลังขนานแท้
13.พระนอน 14.ห้องเก็บอุปกรณ์ประกอบฉาก

เชื่อว่าไปกาญจนบุรีครั้งต่อไปของคุณ คงไม่พลาดที่จะไปแวะชมซักครั้งหนึ่ง พร้อมมิตรสตูดิโอ เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 09.00-18.00 น. ซึ่งควรเผื่อเวลาในการชมไว้ประมาณ 2 ชั่วโมง จะได้ไม่รีบไม่ร้อน และที่อยากแนะนำคือซื้อภาพยนต์สองภาคแรกฉบับลิขสิทธิ์แท้ มาทวนความทรงจำเตรียมไว้ก่อนจะมา ก็จะเพิ่มอรรถรสดีมากครับ คุ้มค่าเกินราคาค่าบัตรผ่านมากๆ เพียงแค่ 100 บาทเท่านั้นสำหรับคนไทย ผมเชื่อว่าแม้การลงทุนในตัวการสร้างภาพยนตร์อาจมีผู้สนับสนุน แต่การจะดูแลรักษาให้คงสภาพเป็นสถานที่ท่องเที่ยวไปตราบนานเท่านาน นี่เป็นค่าใช้จ่ายผูกพันที่ไม่น้อยทีเดียว และยิ่งน่าเสียดายยิ่งขึ้นเมื่อมาแล้วต้องพบความจริงของนักท่องเที่ยวชาวบ้านไทยเราว่า มักนิสัยเสียแบบผู้รักการพิสูจน์ด้วยมือไปซะแทบทุกที่ อยากทราบว่าของจริงหรือฉากแค่แตะสัมผัสไม่พอ ต้องถึงกับจิก-แคะ-แกะ-หัก-ขูด โฟมที่เขาแกะสลักและทำสีไว้สวยๆ ให้มันปรุแหว่งเป็นหย่อมๆ ซะได้ ซึ่งบางอย่างขนาดใหญ่ๆ ใช่ว่าจะซ่อมปะกันได้ง่ายๆ เรื่องของจิตสำนึกสาธารณะบ้านเรายังต่ำกันมากทีเดียว ในบางจุดที่ยังคงต้องใช้ถ่ายทำในภาค 3 และ 4 กันอยู่ก็มีอีกมาก จึงไม่เปิดให้ชม

ปิดท้ายได้ทราบจากใบแนะนำว่า พร้อมมิตรสตูดิโอจะมีการพัฒนาปรับปรุงต่อไปให้โรงถ่ายแห่งนี้เป็นโรงถ่ายภาพยนต์ระดับมาตรฐานโลก จำนวน 4 สตูดิโอ, สร้างเป็นศูนย์ฝึกอบรม สัมมนา/ค่ายลูกเสือ/ค่ายเยาวชน พร้อมฐานผจญภัย และลานกิจกรรม, การสร้างบ้านพักลักษณะเรือนไทยโบราณ ในรูปแบบโฮมสเตย์ และการสร้างพิพิธภัณฑ์หุ่นขึ้ผึ้งของศิลปินแห่งชาติสาขาภาพยนตร์ อีกด้วย.

สนใจเยี่ยมชมโรงถ่ายพร้อมมิตรสตูดิโอ ดูรายละเอียดและภาพเพิ่มเติมได้ที่…
www.prommitrfilmstudio.com

หมวดหมู่:สุดเส้นขอบฟ้า
  1. ยังไม่มีความเห็น
  1. No trackbacks yet.

ใส่ความเห็น