หน้าแรก > สุดเส้นขอบฟ้า > เรื่องเล่าเข้าค่ายฯ พอเถอะ . . . ร้อนจัง

เรื่องเล่าเข้าค่ายฯ พอเถอะ . . . ร้อนจัง

18 มิถุนายน, 2010 ใส่ความเห็น Go to comments

*****ค่ายวิทยาศาสตร์เยาวชน ซึ่งจัดที่สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช จ.นครราชสีมา ของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ปีนี้ ร้อนมาก (ร้อนจนอยากส่ง SMS ไปวิ่งใต้รายการของคุณสรยุทธ์ทางช่อง 3 ว่า สะแกราชร้อนกว่าลำปางมากค่ะ แต่บังเอิญว่าสัญญาณโทรศัพท์ดันไม่มี)  น้อง ๆ ทีมงานหลายคนที่เคยร่วมงานกันมาตั้งแต่ปีแรก ๆ ก็บ่นให้ฟังว่า “พี่ ๆ นี่โลกเราร้อนขึ้นจริง ๆ นะ ร้อนกว่าแต่ก่อนที่เคยว่าร้อนแล้วมากมากเลย (ทั้งที่การจัดค่ายฯนี้ จะจัดในช่วงวันและเดือน ที่ใกล้เคียงกันทุกๆ ปี คือประมาณช่วงปลายสัปดาห์หลังเทศกาลสงกรานต์) เมื่อได้ฟังน้องทีมงานบ่นกันถึงเรื่องความร้อน ก็แอบปาดเหงื่อด้วยความภูมิใจนิดนึง ว่า เรากำหนดธีม (theme) และคอนเซ็ปต์ (concept) ของค่ายวิทยาศาสตร์เยาวชนครั้งนี้ได้ถูกทางแล้ว เพราะปี พ.ศ. 2553 นี้ ทางทีมงานของเราได้กำหนดชื่อตอนเอาไว้ว่า พอเถอะ . . . ร้อนจัง ขยายความ ก็คือ ใช้ชีวิตตามแนวทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงกัน (เถอะ) เพื่อที่จะได้ช่วยลดภาวะโลกที่ ร้อนขึ้น ๆ (จัง) ได้

*****ค่ายวิทยาศาสตร์เยาวชน ของ วว. ปีนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-23 เมษายน พ.ศ. 2553 รวมเวลาสามวันสองคืนด้วยกัน หลังจากที่มีการประชาสัมพันธ์กิจกรรมการจัดค่ายฯ พร้อมทั้งเปิดรับสมัครเยาวชนโดยสื่อต่างๆ ที่ วว. พึงมี   เราก็ได้เยาวชนที่มีหัวใจรักษ์สิ่งแวดล้อม รักการเข้าค่ายฯ มาจำนวน 51 คน (แอบดีใจ เพราะทะลุเป้าไปหนึ่งคน) เมื่อถึงวันที่ 21 เมษายน ทางทีมงานก็ได้พาน้อง ๆ เยาวชนทั้งหมดนั่งรถบัสเดินทางไปยังสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช จ.นครราชสีมา และกิจกรรมต่าง ๆ ก็ได้เริ่มต้นขึ้นที่นั่น

เราเริ่มต้นกิจกรรมของค่ายฯ ด้วยความสนุกสนานแฝงการเรียนรู้เข้าไป ภายใต้คอนเซ็ปต์ Learning by playing พร้อมกับฝึกฝนให้น้องๆ เยาวชนได้เรียนรู้ในการปรับตัวและใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น รู้จักระเบียบวินัย ความสามัคคี ความซื่อสัตย์ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ผ่านการเล่นเกมส์ในหลากหลายรูปแบบ โดยทางทีมงานหน้าเก่าๆ (ขอย้ำว่าทั้งเก่าและแก่ เพราะร่วมงานกันมาตั้งแต่ปี 2545 สมัยที่ยังเป็นวัยรุ่นกันอยู่โน่นแน่ะ) เชื่อเถอะ ว่าเยาวชนได้อะไรมากกว่าความสนุกสนานจากการเล่นเกมส์ เกมส์ดีๆ ไม่ใช่แค่ได้ความสนุก เฮฮา กรี๊ดกร๊าด แต่แฝงแง่คิดในมุมใหม่ๆ ให้เยาวชนเสมอ และเขาจะจดจำได้อย่างแม่นยำ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในอนาคต

*****จากนั้น กิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์ฯ ก็ค่อย ๆ ตามมา ด้วยการให้เยาวชนได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์ด้านชีวภาพ เน้นการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ของพื้นที่สะแกราช ซึ่งสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชนี้ นำความภาคภูมิใจมาสู่ชาว วว. รวมถึงชาวไทยทั้งประเทศ เพราะในปี พ.ศ. 2519 สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชได้รับการรับรองจาก UNESCO ภายใต้โครงการ MAB (Man and Biosphere Program) ให้เป็นแหล่งสงวนชีวมณฑลแห่งหนึ่งของโลกซึ่งเป็นแห่งแรก ของประเทศไทย และเป็น 1 ใน 7 แห่งของเอเซีย

 

 

*****ช่วงค่ำหลังรับฟังการบรรยายภาพรวมของสะแกราชผ่านการนำเสนอภาพสวยๆ ของพี่ๆ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชแล้ว เราก็ได้พาน้องๆ เยาวชนเดินขึ้นไปนอนเล่น ณ ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ เพื่อสร้างบรรยากาศหลังติดผืนป่า ตาจ้องมองดวงดาว พร้อมกันนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้น้องๆ เยาวชน ได้เรียนรู้เกี่ยวกับแมลงหลากหลายสายพันธุ์ที่ออกมาเล่นไฟ ซึ่งน้องๆ เยาวชนได้ทำให้เรียนรู้ว่า ขนาดแค่แมลงที่รวมตัวอยู่กันในป่านี้ก็มีเกือบพันชนิดแล้ว และถ้าเป็นทั้งโลกนี้ล่ะ จะมีมากขนาดไหน

*****ในเช้าวันรุ่งขึ้น พวกเราทีมงานและน้องๆ เยาวชนตื่นกันแต่เช้าตรู่ เมื่อถึงเวลาหกโมงเช้าพวกเราก็ยกขบวนแยกกันไปสองสาย สายหนึ่งไปดูนกโดยเยาวชนได้ฝึกการใช้กล้องส่องทางไกล (binocular) และฝึกอ่านคู่มือดูนกในป่าสะแกราช ส่วนอีกสายไปตามรอยไก่ฟ้าพญาลอ นกประจำชาติไทย แต่แหม ไก่ฟ้าพญาลอนี่ก็ตามหายากใช่เล่น เพราะเราก็ออกกันแต่เช้าแล้วเชียวนะ ยังไม่ค่อยจะทันเจ้าไก่ฟ้าพญาลอออกหากินเลย น้องเดี่ยว เจ้าหน้าที่สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช เปรย ๆ ให้ฟังว่า โลกมันร้อนขึ้นพี่ หน้าร้อนก็สว่างเร็วกว่าเดิม ทำให้การออกหากินของสัตว์ก็ยิ่งต้องเช้าขึ้น ปีหน้าถ้าพี่มาอีก แนะนำให้ออกมาดูตั้งแต่ตีห้าครึ่งครับ … (รับทราบ ครับ น้องเดี่ยว แต่แค่หกโมงเช้านี้ น้องๆ เยาวชน 51 ชีวิตก็จะรุมยำพวกพี่ ๆ อยู่แล้ว)

*****ส่วนช่วงสายๆ เก้าโมง พวกเราก็ได้เริ่มกิจกรรมที่ถือว่าเป็นไฮไลต์ของค่ายฯ ครั้งนี้ ซึ่งก็คือ การได้เดินป่าศึกษาธรรมชาติเป็นระยะทางประมาณแปดกิโลเมตรด้วยกัน การเดินป่านี้ถือว่าไม่ลำบากเลย เนื่องจากพี่ๆ ชาวสะแกราชเขาได้กรุยทางเดินไว้ให้แล้ว เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่ระยะทางพอเหมาะกับระดับอายุของเยาวชน เยาวชนจะได้เห็นป่าหลักของสะแกราชทั้งสองป่า ได้แก่ ป่าดิบแล้ง และป่าเต็งรัง ซึ่งน้องๆ เยาวชนตื่นตาตื่นใจมากกับการเดินป่า เพราะในป่าในแทบจะทุกตารางเมตร จะมีความรู้ที่น่าสนใจรออยู่ ตลอดทาง อาทิเช่น น้องๆ ได้ไปเห็น ไลเค็น (Lichen) เกาะบนลำต้นไม้ ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตเห็ดรา และสาหร่ายที่เป็นดัชนีชี้วัดมลพิษทางอากาศ ซึ่งหาแทบไม่ได้แล้วในเมืองใหญ่ๆ หรือการได้เอาหูไปแนบฟังเสียงลำต้นตะแบกดูดน้ำในดินฝืนแรงต้านทานของโลก ขึ้นไปเลี้ยงใบยอดต้น และอื่นๆ อีกมากมาย ที่ต้องไปสัมผัสเองจริง ๆ ถึงจะเข้าใจความรู้สึกตื่นตาตื่นใจของธรรมชาติอันสมบูรณ์แบบนี้ได้

*****เสร็จสิ้นจากกิจกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์ฯ น้องๆ เยาวชนก็มาผ่อนคลายกับกิจกรรมสนับสนุนวิทยาศาสตร์ คือ การสรุปภาพรวมของค่ายฯ โดยใช้ฐาน Rally มีทั้งดูวีดิทัศน์สาเหตุการเกิดโลกร้อน วิธีการช่วยป้องกันโลกร้อน และทำอย่างไรให้โลกหายร้อน ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมศิลปะ ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ Creative Thinking นำของเหลือใช้มาสร้างเป็นของเล่น ของใช้ เรียนรู้หลักความพอเพียง สามห่วง สองเงื่อนไข

*****จากนั้นตบท้ายด้วยกิจกรรมสัญญาใบไม้ เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกให้น้องๆ เยาวชนได้ระลึกไว้เสมอว่าแม้จะจบจากค่ายฯ นี้ไป แต่ความหมายของ พอเถอะ…ร้อนจัง ยังไม่จบ และต้องทำตลอดไป โดยเรา ขอให้น้องๆ แต่ละคนสัญญาไว้กับใบไม้เอาไว้ 1 ข้อว่า เขาจะกลับไปทำอะไรที่จะช่วยให้ใบไม้แม้เพียงแค่ใบเดียวในป่าสะแกราช หรือที่ไหน ๆ ก็ตามแต่ในโลก ได้หลุดร่วงจากต้นช้าลง ซึ่งความหมายที่แฝงไว้จากกิจกรรมนี้ก็คือ ช่วยกันทำให้ภาวะโลกที่กำลังร้อนขึ้น ๆ ได้เกิดขึ้นช้าลงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งไม่เกิดขึ้นเลย (ถ้าเป็นไปได้) แม้จะเป็นเพียงสัญญาจากเยาวชนตัวเล็ก ๆ สองมือเล็ก ๆ หนึ่งสมองเล็ก ๆ คนละแค่ 1 ข้อ แต่ถ้าสัญญาทั้ง 51 ข้อนั้น น้องๆ เยาวชนทั้ง 51 คนร่วมมือร่วมใจกันนำไปปฏิบัติจริง ก็จะกลายเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้นได้จริง และช่วยโลกใบนี้ได้จริงอย่างยั่งยืน ดังคำกล่าวที่ว่า สามัคคีคือพลัง

*****สำหรับใครที่สนใจอยากจะเข้าร่วมกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์เยาวชนในปีต่อไป สามารถรอติดตามรายละเอียดได้จากทาง http://www.tistr.or.th

หมวดหมู่:สุดเส้นขอบฟ้า
  1. ยังไม่มีความเห็น
  1. No trackbacks yet.

ใส่ความเห็น