หน้าแรก > KM Corner > มารู้จัก R2R กันสักหน่อย

มารู้จัก R2R กันสักหน่อย

17 กันยายน, 2010 ใส่ความเห็น Go to comments

00000000000000000000000000000000000000000

oooooในระยะ 2-3 ปี มานี้ หลายๆ ท่านคงจะเคยได้ยินคำว่า “R2R” กันมาบ้าง R2Rคืออะไร บางท่านอาจนึกฉงนสงสัย แต่ที่แน่ๆ  รับรองว่าไม่ใช่รหัส หรือ โค้ดลับ หรือ ชื่อหุ่นยนต์ หรือ ชื่อโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ในท้องตลาดแน่ๆ

oooooR2R ในที่นี้  มาจากคำเต็มๆ คือ Routine to Research

oooooกล่าวได้ว่าคณะบุคคลที่นำคำนี้มาเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักกัน ได้แก่ คณาจารย์และผู้บริหารแห่งคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ภายใต้การนำของท่านผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร และแกนนำอีก 4 ท่านได้แก่ ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ นายแพทย์ปรีดา มาลาสิทธิ์ และนายแพทย์สมเกียรติ วสุวัฏฏกุล อีกทั้งมีศาสตราจารย์ นายแพทย์ธาดา ยิบอินซอย เป็นผู้ร่วมสนับสนุนในการก่อตั้งหน่วยงาน R2R ขึ้นที่โรงพยาบาลศิริราช โดยมีเป้าหมายเพื่อนำงานวิจัยมาเป็นกลไกขับเคลื่อนและพัฒนางานประจำให้มีคุณภาพ ให้บุคลากรทำงานได้อย่างมีมาตรฐาน และให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงสุดจากผลการวิจัยในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

oooooR2R จึงเปรียบเสมือนกับนวัตกรรมหรือเครื่องมืออย่างหนึ่งในด้านการจัดการความรู้ ซึ่งเป็นแนวทางโน้มนำให้เกิดการสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ ที่บุคลากรในองค์กรขวนขวาย ศึกษาค้นคว้า นำหลักกระบวนการของการทำวิจัยมาใช้ในเรื่องของการศึกษาค้นคว้า เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในงานประจำวัน และพัฒนาต่อยอดให้งานประจำนั้นๆ มีมาตรฐาน มีกฎเกณฑ์ในการทำงานที่เป็นระบบมากขึ้น

oooooนอกจากนั้น การทำ R2R ยังเป็นการส่งเสริมให้บุคลากรมีโอกาสคิด ทดลอง แล้วทำการเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และสรุปผล เพื่อการนำข้อมูลที่ได้จากการวิจัย มาใช้ประโยชน์ ในการพัฒนางานต่อไป

oooooนายแพทย์วิจารณ์ พานิช ได้กล่าวไว้ว่า

ooooo หากมองอีกมุมหนึ่ง R2R ทำให้ความจำเจของงานประจำหายไป กลายเป็นความท้าทาย ความสนุกที่ได้คิดค้นวิธีการสร้างความรู้เล็กๆ แต่เป็นความรู้ใหม่ๆ ขึ้นมาทำประโยชน์ เกิดความภาคภูมิใจในงานที่ตัวเองทำ หรือจะเรียกว่าเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคน (Human resource Development: HRD) ก็ได้ และที่สำคัญคือ งานวิจัยประเภทนี้ทำกันเป็นทีม สามารถใช้ทำให้เกิด Team learning เกิดความสามัคคีได้”

R2R แตกต่างจากงานวิจัยทั่วไปอย่างไร

oooooนายแพทย์วิจารณ์ พานิชได้ให้คำตอบไว้ว่า งานวิจัยแบบ R2R คือการสร้างหัวข้อการวิจัย ขึ้นจากงานประจำในหน้าที่ของเรา ดังนั้น จึงถือเป็นหัวข้องานวิจัยเพื่อพัฒนางาน  และแตกต่างไปจากงานวิจัยแบบเดิมๆ ซึ่งเป็นการวิจัยที่เคร่งครัด มีระเบียบวิธีวิจัย (Research methodology) ที่เต็มรูปแบบ  สร้างความรู้แบบทั่วไป (generic knowledge) มีทฤษฎีและข้อมูลอ้างอิงมากมาย แต่งานวิจัย แบบ R2Rเป็นการสร้างความรู้เฉพาะเรื่อง (specific knowledge) จำกัดเฉพาะงานใดงานหนึ่ง เป็นการเก็บข้อมูลเพื่อวางแผนการพัฒนางานในด้านนั้นๆ เพื่อให้คนอื่นเชื่อถือและมั่นใจว่า งานนั้นๆ ควรจะต้องได้รับการพัฒนาไปตามทิศทางที่ผลการวิจัยชี้แนะ เช่น ในกรณีโรงพยาบาล ก็เพื่อพัฒนางาน เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการบริการที่ดีขึ้น หรือถ้านำไปใช้กับหน่วยงานอื่นๆ ก็หมายถึง การปรับปรุงงานเพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับการบริการที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพดีขึ้นนั่นเอง

งานวิจัย R2R เป็นการเพิ่มภาระงานขึ้นมาอีกหรือไม่

oooooผู้เขียนเชื่อว่า ในหลายๆ องค์กร จะมีบุคลากรที่ค่อนข้างกลัวความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เปรียบไปก็เหมือนกรรมการห้ามมวย ที่เคยทำงานแค่นับ 1..2..3..จนถึง 10 บนเวทีชกมวย แต่วันหนึ่ง สมมุติว่า ได้รับการร้องขอให้นับถึง 20 กรรมการห้ามมวยก็อาจจะโวยวายว่า “ไม่ได้หรอก ห้ามมวย เขานับกันแค่ 10 ทำอย่างนี้มันผิดระเบียบ” หรือบางคนอาจบอกว่า “นับไม่เป็น ตั้งแต่ทำงานมาเคยนับได้แค่ 10 ถ้าให้นับถึง 20 ก็ถือว่าฉันต้องทำงานเพิ่มขึ้นนะนี่”

oooooแต่นายแพทย์วิจารณ์ พานิชกล่าวไว้ว่า R2R ไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก หากแต่เป็นหลักการของการทำ work hard ให้กลายเป็น work smart นั่นคือเป็นการหาวิธีการพัฒนางาน ค้นคว้าเพื่อหาวิธีการที่จะทำให้การทำงานดีขึ้นกว่าเดิม นอกจากนั้น ให้ถือเสียว่า งานวิจัยที่ทำอยู่นั้น ล้วนมาจากงานประจำวันที่เราทำอยู่ ส่วนที่เพิ่มเติมขึ้นมา คือการเก็บข้อมูลที่มีประโยชน์ แล้วนำมารายงานผล เพื่อนำไปสู่การพัฒนาในเชิงนโยบาย  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรูปแบบการให้บริการ อัตราค่าบริการที่เป็นที่พอใจของผู้รับบริการ ได้รูปแบบกระบวนการทำงานที่รวดเร็วขึ้น ลดภาระการทำงานลง เหล่านี้ ล้วนเป็นผลดีในระยะยาวของการทำ R2R

oooooR2R จึงจัดเป็นเครื่องมือในการพัฒนาองค์กร ทำให้การขับเคลื่อนองค์กรเป็นไปในเชิงพลวัต (dynamic) เพราะขึ้นชื่อว่าการวิจัยแล้ว ผลการวิจัยที่ได้ ถ้ามีระบบการบริหารจัดการที่ดี จะสามารถนำผลนั้นๆ ไปพัฒนาองค์กรได้เสมอ นอกจากนั้น ยังเป็นการปลูกฝังวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ขึ้นมาในหมู่บุคลากร งานวิจัยคือกลไกที่ทำให้องค์กร กลายเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้

oooooนายแพทย์สมเกียรติ วสุวัฏฏกุล กล่าวว่า

ooooo หลักการของการทำวิจัย R2R คือ ตั้งคำถามจากปัญหาที่เกิดจากงานประจำ แล้วแก้ให้มันดีขึ้น แต่ถ้าเป็นปัญหาและปล่อยให้มันผ่านไปเฉยๆ แก้เฉพาะหน้าไปวันๆ คนทำงานจะเหนื่อยและรู้สึกว่ามันหนัก ถ้าเราอยากทำงานให้มันดีขึ้น แก้งานประจำอย่างเดียว มันไม่มีประโยชน์ ต้องพัฒนาด้วย”

ปัจจัยสำเร็จของ R2R

oooooปัจจัยที่จะทำให้ R2R ประสบความสำเร็จได้ กล่าวโดยสรุปได้ดังนี้

ooooo1. การนำที่ดีและวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร ผู้นำต้องเป็นผู้ริเริ่ม เห็นความสำคัญ และให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่

ooooo2. การสื่อสารให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง มีความรู้ และความเข้าใจ ทั่วถึงทุกระดับ

ooooo3. การให้เวลากับการทำ R2R

ooooo4. มีผู้อำนวยความสะดวก เข้าไปช่วยเป็นพี่เลี้ยง ผลักดันให้ก้าวไปข้างหน้า ดังเช่น โรงพยาบาลศิริราช มีการตั้งหน่วยงาน R2R เพื่อผลักดันงาน R2R อย่างจริงจัง โดยทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง คอยดูแล ให้คำแนะนำปรึกษาแก่คณะผู้วิจัย

ooooo5. มีการทำ R2R ที่เชื่อมโยงกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกัน เพื่อให้ครบวงจร และแก้ปัญหาได้ครอบคลุมทุกจุดอย่างทั่วถึง

oooooขณะนี้ หลายๆ หน่วยงาน เช่น มหาวิทยาลัยได้เห็นความสำคัญของการนำ R2R มาใช้ในการพัฒนางานแล้ว ใครมีประสบการณ์อย่างไร มาแลกเปลี่ยนกันบ้าง KM Lite ยินดีเป็นเวทีเปิดกว้างให้ท่านค่ะ

เอกสารอ้างอิง

นพมณีจำรัสเลิศ, เชิดชัย และคณะ, 2552. เคล็ดไม่ลับ R2R บริบทคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล. กรุงเทพฯ: ยูเนี่ยนครีเอชั่น.

บุณยรัตพันธุ์, เทพศักดิ์, (มปป.). Routine-to-Research (R2R). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.stou.ac.th/offices/ord/New/seminar/download/sem102.pdf, [เข้าถึงเมื่อ 17 กันยายน 2553].

มหาวิทยาลัยมหิดล, 2553. R2R โครงการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.si.mahidol.ac.th/r2r/, [เข้าถึงเมื่อ 17 กันยายน 2553].

หมวดหมู่:KM Corner
  1. TOFFY SOCIETY
    13 กรกฎาคม, 2013 เวลา 12:07 pm

    บทความดีมากครับ ได้ไอเดียไปปรับใช้ในชีวิตการทำงานมากเลย 🙂

  2. 23 พฤษภาคม, 2021 เวลา 2:51 pm

    การทำ R2R ต้องมีเวทีให้นำเสนอผลงานและมีคะแนนพิเศษให้ใช่ไหมครับ

  1. No trackbacks yet.

ใส่ความเห็น