หน้าแรก > รอบรู้เรื่องงาน > จากโต๊ะเสวนา “บทบาทนักสารสนเทศในวาระเศรษฐกิจสร้างสรรค์”

จากโต๊ะเสวนา “บทบาทนักสารสนเทศในวาระเศรษฐกิจสร้างสรรค์”

18 มิถุนายน, 2010 ใส่ความเห็น Go to comments

*****เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2553 ศูนย์ความรู้ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้เชิญชวนนักวิชาชีพสารสนเทศ นักเอกสารสนเทศ นักวิชาการ นักวิจัย และบุคลากรผู้สนใจทั่วไป เข้าอบรมหลักสูตร “บทบาทนักสารสนเทศในวาระเศรษฐกิจสร้างสรรค์” (The Roles of Information Professionals in the Creative Economy)  ณ ห้องประชุม 4 อาคาร 1 สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (บางเขน) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ของนักวิชาชีพสารสนเทศเกี่ยวกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความรู้และบทบาทในการให้บริการสารสนเทศ และเพื่อกำหนดบทบาทของนักวิชาชีพสารสนเทศตามแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ยังเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความคิดเห็น และประสบการณ์ในหมู่นักวิชาชีพสารสนเทศ โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ คือ รศ.ดร.น้ำทิพย์ วิภาวิน  (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช) และ ผศ.ดร.มงคลชัย วิริยะพานิช (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

*****สำหรับความรู้ที่ได้รับจากงานสัมมนาในครั้งนี้ สามารถสรุปให้ผู้อ่านได้ฟังกันคร่าวๆ ดังนี้  คือ นักสารสนเทศ คือ ผู้ซึ่งทำหน้าที่ให้บริการสารสนเทศ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสังคมองค์ความรู้และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จำเป็นต้องมีบทบาทสำคัญในการเติมเต็มช่องว่างทางความรู้เพื่อลดการแบ่งแยกทางสังคม รวมถึงลดความแตกต่างทางด้านคุณภาพและปริมาณในการเข้าถึงองค์ความรู้ ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ นักสารสนเทศต้องเตรียมความพร้อมของการจัดการความรู้และการจัดการสารสนเทศโดยเน้นการรวบรวมข้อมูลในแต่ละเรื่อง และทำการจัดระบบ เพื่อการบริการที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งการจัดระบบที่ดีนั้นควรจะแยกข้อมูลเป็นเฉพาะด้าน  นอกจากนี้นักสารสนเทศควรจะต้องมีทักษะในด้านต่างๆ ดังนี้

– ทักษะการจัดการองค์กรสารสนเทศ

– ทักษะการจัดการทรัพยากรสารสนเทศ

– ทักษะการจัดการงานบริการสารสนเทศ

– ทักษะการประยุกต์ใช้เครื่องมือสารสนเทศและเทคโนโลยี

*****นอกเหนือจากทักษะดังกล่าวนี้ สิ่งที่นักสารสนเทศจำเป็นต้องให้ความสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ คุณลักษณะของตนเองในการปฏิบัติงานให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อพร้อมสนับสนุนเป้าหมายขององค์กร ซึ่งคุณลักษณะนี้หมายความรวมถึง ทัศนคติ และคุณค่าในตนเองด้วย ซึ่งคุณลักษณะสำคัญๆ ที่นักสารสนเทศทุกคนควรจะต้องมีก็คือ

1. ความกระตือรือร้นในการค้นหาความท้าทายและโอกาสใหม่ๆ

2. ความสามารถในการมองเห็นภาพรวมในเรื่องต่างๆ ได้อย่างชัดเจน

3. ความสามารถในการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ

4. ความสามารถในการเสนอความคิดได้ชัดเจนและมีการเจรจาอย่างมั่นใจ

5. ความสามารถในการสร้างการมีส่วนร่วมและพันธมิตร

6. ความสามารถสร้างสภาพแวดล้อมของการเคารพซึ่งกันและกัน และการสร้างความเชื่อมั่น การเคารพคุณค่าที่แตกต่าง

7. ความสามารถในสร้างทีมงานและการประสานความร่วมมือ

*****ในส่วนขององค์กรแห่งการเรียนรู้ (learning organization) นักสารสนเทศจำเป็นต้องมองทุกอย่างให้เป็นระบบ มองการทำงานให้เป็นภาพรวม และมองให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกันของหน่วยงานต่างๆ ในองค์กร  นอกจากนี้นักสารสนเทศยังจำเป็นต้องเป็นผู้รู้ที่จริง คือหมายถึง ต้องพัฒนาความเชี่ยวชาญ ความชำนาญของตนเองในเรื่องที่ตนถนัดอย่างจริงจังจนเป็นผู้เชี่ยวชาญ และที่สำคัญที่สุดนักสารสนเทศจำเป็นต้องเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว พร้อมจะเรียนรู้จากคนอื่นและให้คนอื่นเรียนรู้จากตนเองไปพร้อมกัน และสุดท้ายต้องมีเป้าหมายและวิสัยทัศน์ร่วมกันระหว่างตนเอง พนักงานในองค์กรและองค์กรเองด้วย

*****ส่วนการเตรียมสารสนเทศเพื่อสนับสนุนสังคมเศรษฐกิจสร้างสรรค์นั้น นักสารสนเทศจำเป็นต้องทำความเข้าใจถึงคำว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือเศรษฐกิจความรู้เสียก่อน ซึ่งจากข้อมูลที่ได้จากการสัมมนาในครั้งนี้ คำว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สามารถสรุปความได้ว่า เป็นการใช้ความรู้เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนในการพัฒนาสังคมในระยะยาวและอย่างยั่งยืน และเป็นปัจจัยสำคัญในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ เพราะเศรษฐกิจสร้างสรรค์นั้น เป็นการสร้างมูลค่าที่เกิดจากความคิดของมนุษย์ ไปสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งประเภทของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อาจแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้ คือ

1. ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม

2. ประเภทศิลปะ

3. ประเภทสื่อ

4. ประเภทกลุ่มสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกัน

*****นอกจากนี้นักสารสนเทศยังสามารถจัดระบบความรู้โดยแบ่งเป็น 9 กลุ่ม ตามกลุ่มของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้กำหนดไว้ ซึ่งได้แก่

1. งานฝีมือและหัตถกรรม (crafts)

2. งานออกแบบ (design)

3. แฟชั่น (fashion)

4. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (film & video)

5. การกระจายเสียง (broadcasting)

6. ศิลปะการแสดง (performing arts)

7. ธุรกิจโฆษณา (advertising)

8. ธุรกิจการพิมพ์ (publishing)

9. สถาปัตยกรรม (architecture)

*****ดังนั้นจึงสามารถสรุปได้ว่า การที่นักสารสนเทศจะสามารถมีส่วนช่วยในการสนับสนุนทำให้ประเทศไทยเป็นสังคมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้นั้น นักสารสนเทศจำเป็นต้องตระหนักเสมอว่า ตนเองมีบทบาทในการช่วยส่งเสริมและพัฒนาระบบศึกษา วิธีการการเรียนรู้ ระบบสารสนเทศ การจัดการความรู้ และส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศในการเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ได้  ทั้งนี้เพื่อทำให้เกิดความพร้อมในการพัฒนาองค์ความรู้ และทำให้เกิดศูนย์รวมความคิดในการสนับสนุนสังคมไทยให้พัฒนาได้อย่างยั่งยืนต่อไป

  1. ยังไม่มีความเห็น
  1. No trackbacks yet.

ใส่ความเห็น